top of page

IFVPสมาคมวิชาชีพ
ของคนสร้างภาพทั่วโลก

Photo by Vicky Lapeyra

          จอมยุทธในอดีต พบปะกันที่โรงเตี๊ยม เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนความเป็นไปในวงการ เช่นเดียวกับปัจจุบัน แต่ละสายอาชีพมีการรวมกลุ่มพบปะไม่ต่างจากเดิม เพียงเปลี่ยนสถานที่จากโรงเตี๊ยม เป็นสมาคมวิชาชีพนั่นเอง เป้าหมายคือการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน พัฒนาองค์ความรู้ และ รักษาผลประโยชน์ของวิชาชีพ 


          สมาคม IFVP (International Forum of Visual Practitioners) เปรียบเหมือนโรงเตี๊ยมของเหล่า Visual Practitioner และเป็นโรงเตี๊ยมที่เปิดกว้างสำหรับผู้สื่อสารด้วยภาพจากทั่วโลก

IFVP ทำอะไรบ้าง

          IFVP เกิดขึ้นจาก Visual Practitioner มารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์การทำงาน ที่ทุกคนแชร์ประสบการณ์เพื่อพัฒนาวิชาชีพไปข้างหน้าด้วยกันได้

          ทั้งยังเป็นแหล่งชุมทาง ให้แหล่งพบเจอผู้ร่วมอาชีพอื่นๆ ได้เรียนรู้ทั้งการทำงาน และคำแนะนำในการทำธุรกิจด้านนี้อย่างมั่นคง เนื่องด้วยปัจจุบัน ศาสตร์นี้อยู่ในขั้นตอนตกผลึกและพัฒนาเป็นใบประกอบวิชาชีพในอนาคตอันใกล้

 

          ใครที่อ่านบทความ Visual Practitioner คืออะไร? แล้วเกิดความสนใจ ที่อยากจะเข้าร่วมสมาคมเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ไปจนถึงต้องการประกอบวิชาชีพนี้ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติม และสมัครเป็นสมาชิกได้ที่เว็บไซต์ https://ifvp.org/ 

           หากยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่? วิชาชีพนี้จะเหมาะรึเปล่า ไปสมัครแล้วจะพบเจอกับอะไรบ้าง? วันนี้ Pictures Talk มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของสมาชิกของ IFVP มาแบ่งปันให้แก่ทุกคน

สถาปนิกผู้ผันตัวเป็นนักสรุปประชุมเป็นภาพ
สู่คนไทยคนแรกในตำแหน่งคณะบอร์ดบริหาร
IFVP
  คุณตุลย์   เล็กอุทัย  

Q: จุดเริ่มต้น ที่ทำให้รู้จักงานของ Visual Practitioner เริ่มจากอะไร

คุณตุลย์ : เกิดความบังเอิญจากการเป็น Volunteer งาน TedXChiangmai 2013 โดย

คุณมาติน เฟนสกี้ สตาลลิ่ง ประธานผู้จัดงาน นำตัวอย่างการจดบันทึกประชุมจากต่างประเทศมาแนะนำ ตอนนั้นน้อยคนนักที่รู้จัก แต่ด้วยความอยากรู้ พอมีทักษะการวาดและฟังอยู่บ้าง จึงได้ลองบันทึกครั้งแรกในแบบที่ไม่มีความรู้มาก่อนและใช้เวลากับกระดาษทั้งสิ้น 1 สัปดาห์

         ในปี 2014 ก็ยังเป็น Volunteer ของงาน TedXChiangmai 2014 เหมือนเดิม แต่ ในปีนั้น เจ้าของงาน คือคุณมาติน ได้เชิญนักบันทึกประชุมอาชีพจากมาเลเซียถึง 3 คน เปรียบเหมือนการพบกับเซียนกระบี่ตัวจริง ทำให้เห็นการทำงานที่เป็นมืออาชีพ วางแผน เลือกใช้อุปกรณ์ และการแบ่งหน้าที่การทำงานของนักบันทึกทั้ง 3 คน

         งานนี้เป็นเหมือนกับไม้ขีดไฟที่ถูกโยนลงมาในกองฟืนแห่งความอยากรู้ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับวิชาชีพ Visual Practitioner อย่างจริงจัง

Q : หลังจากได้เห็นตัวจริงทำงานแล้ว ก็ตั้งใจว่าจะเป็นนักบันทึกประชุมเลยรึเปล่า

 

คุณตุลย์ : ตอนนั้นเหมือนมีอะไรมาจุดประกายความอยากรู้  ปี 2015 เจอ IFVP สมาคมวิชาชีพที่รวม Visual Practitioner ทั่วโลก บนอินเตอร์เน็ต เลยตัดสินใจวางแผนเก็บเงินไปเวิร์คชอปที่ U.S.A ในปีถัดไป

 

           ปี 2016 สมัครเป็นสมาชิก IFVP และเดินทางไป workshop ที่วอร์ชิงตัน ดี.ซี. ประเทศอเมริกา ลงทุนค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ถึง 2 แสน ซึ่งตอนนั้นต้องการพิสูจน์ว่าความสนใจของตัวเองนั้น มากพอที่จะเดินต่อไปยังสายอาชีพนี้ไหม 

          การเดินทางครั้งนั้นได้เปลี่ยนมุมมองไปอย่างมาก ถึงแม้จะมีธุรกิจบริษัทออกแบบของตัวเองแล้ว และก็สนใจที่จะประกอบอาชีพ Visual Practitioner อย่างจริงจัง และเริ่มทำงานควบคู่กับธุรกิจของตัวเองทีละเล็กละน้อยอย่างแน่วแน่ 

Q : ได้อะไรบ้างจากการเป็นสมาชิก IFVP 

คุณตุลย์ : ถ้านอกเหนือจากประสบการณ์ที่เปิดโลกอาชีพ Visual Practitioner ก็มีสิทธิพิเศษจากการเป็นสมาชิก

  1. ได้เครือข่ายของนักวิชาชีพเดียวกัน และหลากหลายประเทศ 

  2. ได้ความรู้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพราะ IFVP มีโครงการ OLS (Online Learning Series) เป็นเวิร์คชอป  ฟรีทุกๆเดือน วิทยากรจะเป็นคนในสมาคมที่มีความเก่ง เรื่องที่ถนัดด้านต่างๆ มาให้ความรู้ 

  3. ส่วนลดงานประชุมประจำปี เฉพาะสมาชิก IFVP งานนี้เป็นงานที่จุดประกายให้เกิด Pictures Talk ด้วย

  4. มีโอกาสได้รับงานจากลูกค้าระดับ Global โดยบริษัทที่ต้องการ Visual Practitioner จะติดต่อมาทาง IFVP สมาคมจะทำหน้าที่ประกาศเปิดรับสมัคร และแจ้งข่าวสารให้สมาชิกทราบ

          นอกจากนี้ อีกหนึ่งประสบการณ์ล้ำค่าที่สุด ที่เกิดขึ้นกับตนเองในปลายปี 2016 ได้เกิดเหตุบอร์ดบริหาร IFVP ลาออก 2 คนก่อนวาระ สมาคมจึงเปิดรับสมัครบอร์ดบริหารในตำแหน่งที่ว่างลง เลยตัดสินใจสมัครไป โดยไม่ได้กลัวว่าจะได้รึเปล่า จะถูกปฏิเสธไหม หรือว่ากังวลถึงความรู้ และประสบการณ์ที่ตนเองมีในตอนนั้น เลยสมัครไปด้วยความมุ่งมั่นอยากพัฒนา IFVP และเสนอแผนงานที่ตั้งใจอยากจะทำเพื่อสมาคม

 

          ผลลัพธ์คือ ได้รับเลือกเข้าไปอยู่ในทีมบอร์ดบริหาร และดำรงตำแหน่ง 2 สมัยครึ่ง หรือราว 4 ปี กระทั่งลาออกในเดือน กย. 2020 เพื่อโฟกัสกับ Pictures Talk 

Q: พูดถึงงานประจำปีของ IFVP ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งในฐานะผู้ร่วมงาน และในฐานะ speaker ชาวเอเชียหนึ่งเดียวในงาน

คุณตุลย์ : จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ร่วมงาน ถ้าไม่ได้ไปงานประชุมประจำปี 2016 ก็คงไม่มีวันนี้ ไม่ถูกจุดประกาย และไม่มี Pictures Talk เพราะงานนี้ มีทั้งเวิร์คชอปที่สร้างให้เกิดแรงบันดาลใจ ความรู้ที่เป็น Insight เป็นโอกาสที่หากไม่ไป คงไม่ได้เห็นมุมมองวิชาชีพที่จริงจัง มันต่างจากการหาข้อมูลด้วยการอ่าน การฟัง การดูผ่าน online แบบเทียบไม่ได้เลย

 

          ความรู้สึกเหมือนคนที่ไปคอนเสิร์ต กับดูคอนเสิร์ตผ่านวิดีโอ อยากแนะนำสำหรับคนที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจแล้วว่าอยากจะประกอบอาชีพนี้ แนะนำว่าการไปร่วมงานได้อะไรกลับมาแน่นอน

          ปีนี้ ผมได้รับเกียรติจาก Bilbao Visual Thinking Global Summit 2022 ร่วมเป็น 1 ใน 5 Speakers ส่วนของ Knowledge café session In the afternoon ในงาน Bilbao Visual Thinking Global Summit 2022

 

          IFVP เชิญในนามของ Pictures Talk เพราะความต่อเนื่องของงานที่แบรนด์ได้รับ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นรูปธรรม มีการเติบโต และมีการประยุกต์ใช้ Visaul Thinking กับงานในหลากหลายรูปแบบอยู่เสมอ

 

          งานนี้ ผมตั้งใจเล่าเรื่องหลังฉาก ที่ โหด มัน ฮา ผ่านกระบวนคิด เอาตัวรอด การแก้ปัญหา หลายเรื่องล้มเหลว บางเรื่องถูไถ บางสิ่งทำให้พวกเรามีพลังชีวิตลุยต่อ ผ่าน 3 งานสำคัญ ใน Knowledge café session และพร้อมเสิร์ฟ Gamification in Visual Practice เบื้องหลังการทำงานแบบฉบับ Pictures Talk ในบรรยากาศยามบ่ายของบิลเบา ประเทศสเปน ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2022 เวลา 13:30 .(เวลาท้องถิ่น)

   

สำหรับใครที่สนใจเข้าร่วมงาน Bilbao Visual Thinking Global Summit 2022 สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้แล้วที่นี่ https://bit.ly/3AOFifC

  • LinkedIn
  • Facebook
  • Instagram
  • YouTube
bottom of page