top of page
  • Writer's pictureTul Lekutai

จระเข้ (Evergreen) ขวางคลอง


คนจำนวนมากโล่งอกเมื่อทราบข่าวว่า เรือบรรทุกสินค้ายักษ์ Evergreen ที่คลองสุเอชไม่กลายเป็น จระเข้ขวางคลองซะที ระหว่างนั้นมีคำถามมากมาย เช่น


1. ทำไมเรือใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้? 2. ลมอะไรพัดจนเรือยักษ์เอียงได้? 3. คลองสุเอช อยู่ตรงไหน สำคัญอย่างไร? --- คำถามข้อ 2 และ 3 มีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ตอบไว้แล้ว ขอยกข้อที่ 1 มาขยายความ เนื่องจากปี 2558 ได้เคยเขียนภาพประกอบบทความ เรือบรรทุกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้น คือ เรือบรรทุกสินค้า Maersk Triple-E ที่มีขนาดใกล้เคียงกับเรือปัจจุบัน คิดต่อไปว่าความใหญ่ดีอย่างไร ต้องตอบว่า ดีอย่างน้อย 3 ข้อ --- 1. ต้นทุนการขนส่งถูกลง ตาม Economy of Scale ที่เรือ 1 เที่ยว ยิ่งบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มากเท่าไหร่ ตัวหาร ต่อน้ำมันที่ใช้ พนักงาน ค่าดำเนินการต่างๆต่อหน่วย ก็ถูกลงเท่านั้น และ ขนาดก็มีผลกับความกว้าง สูง ระดับการ กินน้ำลึกยิ่งมาก (ระดับท้องเรือจมลงในน้ำ หลังบรรทุกน้ำหนักเต็มอัตรา) เรียกว่า ยิ่งใหญ่ หนักยิ่ง กินน้ำลึกเท่านั้น


2. ลดโลกร้อน การขนส่งสินค้าโดยเรือบรรทุกสินค้า Maersk Triple-E ปล่อยปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาเพียง (3 กรัม /1 ตัน/ระยะทาง 1 กม.) เทียบกับวิธีที่เราขนส่งผ่าน เครื่องบิน, รถบรรทุก, รถส่วนบุคคล, รถไฟ และ เรือบรรทุกสินค้า เรือ เป็นยานพาหนะที่สร้างมลพิษต่อหน่วยน้อยที่สุด ตามตารางในภาพประกอบ รวมถึงอายุการใช้งานซ่อมบำรุงยังถือว่าดีกว่ายานพาหนะอีกหลายชนิด


3. สร้างคุณค่า เชื่อมโยงผู้คน สรุปจากบางส่วนของหนังสือ Stakeholder Capitalism ของผู้เขียน Prof. Klaus Schwab เล่าถึงช่วงการเปลี่ยนผ่านของ Maersk บริษัทเดินเรือ ขนส่งทางทะเล สัญชาติเดนมาร์ก ที่มีอายุนับร้อยปี ผ่านร้อนผ่านหนาวจากบริษัทเล็กๆก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลก จนราว 8 ปีก่อนเริ่มเกิดปัญหารายได้ลดลง จำต้องเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้วย CEO คนใหม่ คือ Jim Hagemann Snabe --- ผู้ย้ายข้ามห้วยมาจาก SAP บริษัทเทคโนโลยีเยอรมัน เพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิตอลแต่จุดเริ่มต้นหาใช่ เทคโนโลยีนำไม่ แต่ Jim ได้ย้อนกลับไปสู่รากเหง้า พื้นฐานที่สุดที่ก่อกำเนิด Maersk เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว

---

Jim ถามผู้บริหารตอนนั้นว่า Maersk ทำอะไร? ผบ.ตอบว่า Ship the box (ส่งของ/ส่งสินค้า) ถูกแต่ไม่ทั้งหมด Jim ค่อยๆทำให้คนในองค์กรค้นหาคุณค่าในสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่อาจจะลืมไป

Jim เล่าว่า คนเดนมาร์ก ชอบกินกล้วย แต่ถ้าปลูกเองคงไม่ดีแน่ๆ เพราะอากาศไม่อำนวย เพราะกล้วยเป็นผลไม้เขตร้อน หากปลูกกล้วยที่โคลัมเบีย, เวเนซุเอล่า (อเมริกากลาง) มีอากาศร้อนชื้นย่อมดีกว่า แต่การส่งกล้วยจากอเมริกากลางมาเดนมาร์กก็ไกลโขอยู่ ดังนั้น Maersk เราเชื่อมโยงผู้คนผ่านสินค้า ให้คนเดนมาร์กได้ทานผลไม้ที่มีประโยชน์ในราคาไม่แพง เกษตรกรปลูกกล้วยที่อเมริกากลางสามารถขายผลผลิตในราคาที่เหมาะสม มีรายได้จุนเจือครอบครัว ส่งลูกเรียน รวมทั้งเทคโนโลยีตู้คอนเทนเนอร์ ควบคุมอุณหภูมิ การขนส่งจากต้นทางไปปลายทางที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดการสูญเสียของกล้วยเหลือเพียง 0.4% ขณะที่การขนส่งทั่วไปทำให้ผลผลิตเสียหายสูงถึง 30-40%

เห็นหรือยังว่า Maersk เราได้ทำให้ทั้งผู้ซื้อได้สินค้าที่มีคุณภาพ ในราคาที่เข้าถึงได้ ผู้ขายได้ส่งผ่านเรื่องราวของสินค้าไปยังทุกที่ในโลก มีรายได้ที่เหมาะสม เป็นการสร้างคุณค่าและเชื่อมโยงผู้คนจากทุกมุมโลกเข้าด้วยกันยังไงล่ะ --- ปัญหาเรือขวางคลองสุเอช จึงไม่ใช่เพียง เรือติด แต่เป็นสายใยของทั้ง เรื่องราว สินค้า และ คุณค่าของผู้คนข้ามทวีป ที่ถูกขวางกั้น สุดท้ายขอคิดในใจดังๆว่าแล้ว คลองไทย ควรเป็นอย่างไร?

61 views0 comments
bottom of page