
Visual Practitioner
อาชีพที่เปลี่ยนเรื่องยาก ให้เข้าใจง่าย
มาเช็คลิสกันว่าทุกวันนี้มีปัญหาอะไรกวนใจตอนทำงานบ้าง?

ไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ
เนื้อหามีแต่น้ำ ไม่เข้าเรื่องซักที

ประชุมยืดเยื้อ
ไม่มีข้อสรุป

เมื่อต้องสื่อสารออกไป
ก็วกวน อธิบายไม่ได้อย่างที่คิด
ปัญหาการสื่อสารเหมือนเส้นผมบังภูเขา ทำให้เกิดกลุ่มคนที่พัฒนาองค์ความรู้เพื่อสิ่งนี้ ด้วยกระบวนคิดและสื่อสารด้วยภาพ โดยนิยามเค้าเหล่านี้ว่า Visual Practitioner ซึ่งมาจากคำว่า Visual (ภาพ) และ Practitioner (นักปฏิบัติ)
ที่มาจากคำว่า Practice นั่นเอง กล่าวโดยสรุป คือ คนที่ใช้กระบวนคิดและสื่อสารด้วยภาพในการปฏิบัติงาน แก้ปัญหาโจทย์และความท้าทายหลากหลายแบบ
หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำเป็นอาชีพกันได้จริงๆหรอ? แถมยังทำกันรอบโลก และถึงขั้นมีสมาคมวิชาชีพ
เป็นเรื่องเป็นราว มีคำเรียกระบุอาชีพหลากหลายคำ ไม่ว่าจะเป็น Visual Thinking , Visual Recording , Visual Facilitator และ Visual Coach
แล้วแต่ละคำ ต่างกันยังไง ใครทำอะไร ไม่ต้องสงสัยเพราะเรารวบรวมคำตอบมาให้ทั้งหมดจบในที่เดียว!
ในที่สุด ก็ถึงเวลาบอกลาปัญหาซ้ำซากเหล่านี้ ด้วยอาชีพที่เปลี่ยนเรื่องยากให้เข้าใจง่าย!

การถือกำเนิดขึ้นของ Visual practitioner
ราวปี ค.ศ.1960 - 1970 แถบซานฟรานซิสโก แคลิฟอเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุคทองของกลุ่มคนหัวก้าวหน้า
ในสายครีเอทีฟ มารวมกัน คิด ทำ อะไรที่แตกต่าง หนึ่งในสายอาชีพที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น คือ Visual Practitioners
คนกลุ่มนี้ ริเริ่ม สร้างกระบวนการแก้ปัญหาในการจัดการข้อมูลที่เยอะ เข้าใจยาก และซับซ้อน ให้เข้าใจง่าย ยุคสมัยนั้น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังไม่แพร่หลาย และมีราคาสูงมาก การทำงานเน้นพึ่งพาการจัดการข้อมูลด้วยมือบนกระดาษ ทำให้ต้องพัฒนาวิธีการและเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง เกิดการรวมกลุ่ม พบปะพูดคุยระหว่างเพื่อนร่วมอาชีพ แลกเปลี่ยนวิธีการทำงานและต่อยอด เริ่มเป็นเครือข่าย จนกระทั่งกลายเป็นสมาคม IFVP (International Forum of Visual Practitioners) ราวปี 1990 จากสมาชิกเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เปิดกว้างรับสมาชิกจากหลากหลายทวีปจนปัจจุบัน

Visual Practitioner ทำงานอย่างไร
ยุคแรก ใช้การจัดการข้อมูลด้วยการจดสรุปสาระสำคัญลงบนกระดาษ มีการจัดเรียง แบ่งหมวดหมู่ สรุปย้อนหลังให้ทุกคนจดจำมีการใช้ภาพประกอบบ้าง เมื่อมีการพัฒนาองค์ความรู้มากขึ้น ภาพจึงกลายเป็นเครื่องมือหลักที่สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงผู้คนได้หลากหลาย มีความเป็นสากล ทำให้มีการใช้ Visual thinking แพร่หลายไปสู่แวดวงอื่นๆ

Visual Thinking ทักษะการคิดและสื่อสารเป็นภาพ
หัวใจสำคัญของ Visual Practitioner
ขอให้นึกภาพตาม สมมุติเราวางแผนเดินทางไปเที่ยวทะเล ต้องทำอะไรบ้าง? ดูเงินในกระเป๋า เช็คตารางวันหยุด ดูรีวิวที่พัก สถานที่เที่ยว สุดท้ายขาดไม่ได้ คือ เปิดแผนที่ ไม่ว่า Google Map หรือ แผนที่เป็นฉบับจริงก็ตาม เพราะอะไร?
คำตอบคือ เราทุกคนกลัวหลงทาง จึงต้องการแผนที่ ที่จะบอกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นทิศ,ถนน,ระยะทาง เพื่อจะได้รู้ว่า ตัวเองอยู่ตรงไหนใน ไกลจากจุดหมายปลายทางอีกแค่ไหน?
การสื่อสารด้วยภาพที่มีประสิทธิภาพก็เหมือนกับแผนที่ ที่ประกอบด้วย 3 สิ่งสำคัญ คือ
-
ฉายภาพใหญ่ ให้เห็นว่าอะไรอยู่ตรงไหน เชื่อมโยงกันอย่างไร
-
ให้เห็นว่าจุดหมาย ปลายทางจะไปที่ใด
-
เปิดพื้นที่ให้เรารู้ว่าอยู่ตรงไหน ในภาพใหญ่นั้น

การฟังเรื่องที่ยาก ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็เหมือนกับการหลงทางนั่นเอง เราหลงทางคนเดียวยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ในองค์กรหลงทาง อะไรจะเกิดขึ้น?
Visual Thinking ก็เหมือนแผนที่ ที่ไม่ทำให้หลงทาง และเป็นเครื่องมือที่สำคัญของอาชีพ Visual Practitioner ในการใช้เล่าเรื่องยาก ให้เข้าใจง่าย และน่าดึงดูด
Visual Practitioners แบ่งออกเป็น 3 สายหลัก
ภายใต้ร่มใหญ่คือแนวคิด Visual Thinking
1. นักสรุปประชุมเป็นภาพ (Visual Recorder)
ฟัง, จับประเด็นสำคัญและแปลงออกมาเป็นภาพ
Pictures Talk เรียกว่า Visual Recording, Graphic recording

2. กระบวนกร (Visual Facilitator)
นักออกแบบและจัดการเรียนรู้ ด้วยกระบวนคิดและสื่อสารด้วยภาพ มีความหลากหลายตามการใช้งาน
ผู้ที่นำศาสตร์นี้ไปประยุกต์ใช้ เช่นที่ปรึกษา, ครูอาจารย์ เป็นศาสตร์ที่นิยมใช้กับ Workshop

3. โค้ช (Visual Coach)
หรือ ผู้ฝึกสอน กระบวนคิดและสื่อสารด้วยภาพ
ผลลัพธ์ของการฝึกสอน เน้นรูปแบบที่ชัดเจน เป็นลำดับขั้นตอน

เจาะลึก Journey การทำงานของทั้งสามเสาหลัก
Visual Facilitator & Visual Recorder
บริษัทในต่างประเทศหลายแห่ง จะมีบุคลากร Visual Practitioner ทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การจัดประชุม อบรมสัมนาพนักงาน ไปจนถึงคนสรุปบันทึกประชุมในแต่ละกิจกรรม เปรียบได้ว่า Visual Facilitator และ Visual Recorder ในองค์กร คือ เด็กหน้าห้อง และ เด็กหลังห้อง ที่คอยส่งเสริมกันและกันในภาพรวม
-
เด็กหน้าห้อง (Visual Facilitator) ดูภาพรวม ความเป็นไปของบรรยากาศและกิจกรรมที่เกิดขึ้น รวมถึงออกแบบกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม สร้างคำถาม เชื้อเชิญคำตอบ ขมวดข้อคิดให้ไปในทางเดียวกัน
-
เด็กหลังห้อง (Visual Recorder) มีหน้าที่ ฟัง สรุปสาระสำคัญที่เกิดขึ้น และวาดออกมาเป็นภาพพร้อมคำอธิบายแบบกระชับ เพื่อช่วยทบทวนความจำ รวมถึงเป็นผู้สังเกตการณ์ เพื่อช่วยเหลือในส่วนที่ Visual Facilitator อาจตกหล่นหรือมองไม่เห็น

งานบางประเภทใช้เพียงหนึ่งขาก็พอ
-
งาน Workshop ที่ไม่ได้ต้องการ Recap เนื้อหา เน้นสร้างการมีส่วนร่วม ให้เห็นภาพวัตถุประสงค์กิจกรรมไปในทิศทางเดียวกัน หรือ การละลายพฤติกรรม Visual Facilitator สามารถบินเดี่ยวได้ไม่ต้องพึ่งพานักบันทึกประชุม
-
งานสรุปบันทึกประชุม (Visual Recorder) เมื่อประชุมบ่อย คุยนาน เนื้อหายาก คนฟังรับสารไม่หมด Visual Recording เหมือนตัวกลางที่ช่วยฟังย่อยข้อมูลออกมาเป็นภาพ ให้ได้กลับมาทบทวน เนื้อหาได้ แม้ตกหล่นประเด็นสำคัญตรงไหนไป โดยผลลัพธ์ที่ออกมาเป็น ภาพ + ตัวหนังสือ ช่วยดึงความทรงจำได้เป็นอย่างดี
Visual Coach & Visual Facilitator ต่างกันยังไงนะ?
ศาสตร์โค้ช (Visual Coach) คือ แนวคิดและวิธีฝึกฝนให้ได้ผลลัพธ์แบบเฉพาะเจาะจง กับผู้เรียน มีการประเมิน,วัดผล ให้เกิดพัฒนาการถึงจุดที่โค้ชคาดหวัง ซึ่งมีจุดเด่นคนละแบบกับ Visual Facilitator ที่มุ่งเน้น การดึงความรู้จากภายในด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่ม ซึ่งทั้งสองศาสตร์ล้วนมีประโยชน์ ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และ สไตล์ที่ผู้เรียนสนใจ

-
Visual Coach เน้นการฝึกฝนเป็นขั้นตอน มีเครื่องมือ แนวคิดและคาดหวังผลลัพธ์ที่ชัดเจน Visual Practitioner ทั้งสาม จะมีเนื้อหา ทฤษฎีการสอนที่เป็นเอกลักษณ์ และ จุดเด่นแตกต่างกันไป
-
Visual Facilitator เน้นกระบวนการ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์จากภายในของผู้เรียน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และยอมรับคำตอบที่หลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจง
สิ่งสำคัญ ต้องถามตัวเองว่า เรียนไปทำไม?
อยากหาความรู้ใหม่, อยากทำอาชีพนี้, อยากนำไปเสริมกับงานที่ทำ, อยากแหย่ขามาดูก่อน หรือ อื่นๆ แล้วค่อยมองหาที่เรียน ว่าแต่ละแห่งมีหลักคิด วิธีการอย่างไร ที่ไหนเหมาะสมกับสิ่งที่เราสนใจ
ต้องไม่ลืมว่า Visual Practitioner คือ ชุดทักษะ คำว่า ทักษะ หมายถึงต้องลงมือทำ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดความชำนาญ การรู้เพียงทฤษฎีนั้นไม่เกิดผลอะไรเลย ดังนั้นการเรียนรู้จากสถาบัน หรือ แหล่งอื่นๆ เปรียบเหมือน ตัวช่วยทางลัดที่ไม่ต้องลองผิดลองถูกเองทุกอย่าง รวมถึงการได้รับคำแนะนำที่จะช่วยให้เดินไปถึงปลายทางได้เร็วยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน แนวโน้มของงาน Visual Practitioner ในประเทศไทย เติบโตมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา* หน่วยงานรัฐ และเอกชน เห็นความสำคัญ และใช้บริการจดสรุปบันทึกประชุมเป็นภาพอย่างแพร่หลาย (Visual Recording)
นอกจากความสนใจระดับองค์กร บุคคลทั่วไปก็เริ่มให้ความสนใจศาตร์การคิดและสื่อสารด้วยภาพมากขึ้น (Visual Thinking) แม้จะไม่ได้ทำความเข้าใจเพื่อการเป็นมืออาชีพในสายงานนี้ แต่เล็งเห็นว่าทักษะนี้ มีความสำคัญที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับสายงานหรือสิ่งที่ทำอยู่ และเป็นเรื่องที่ฝึกฝนทำความเข้าใจได้ทุกเพศทุกวัย (Pictures Talk มีเด็กฝึกงานอายุน้อยที่สุดคือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย)
*อ้างอิงจากสถิติติจำนวนการจ้างงานของ Pictures Talk

